พระป๊อก โค้ชผ้าเหลืองแห่งอันดามัน

8/20/15
 
คนค้นคน รายการคนค้นฅนย้อนหลัง 29 พ.ค. 2555

คนค้นฅน อังคารนี้ ตามดูแนวคิด พระป๊อก…โค้ชผ้าเหลืองแห่งอันดามัน

“กีฬากับพระสงฆ์” อาจจะเป็นเหมือนเส้นขนานที่ไม่สามารถมาบรรจบกันได้ แต่

พระสมุห์โกศล ญาณวโร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เจ้าป๊อก 

เจ้าอาวาสวัดป่าท่านุ่น ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พระนักพัฒนาผู้ที่นำฟุตบอลมาเป็นเครื่องมือทำให้ชุมชนชาวไทยพุทธ และมุสลิมในพื้นที่กลับมามีความสามัคคีกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเยาวชนก็ห่างไกลยาเสพติดและมีอนาคตที่ดีขึ้น “พระป๊อก” เป็นเด็กหนุ่มจากพังงาใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย กินเหล้า ดูดกัญชา เสเพลไร้แก่นสาร

แต่วูบหนึ่งของความคิด ก็รู้สึกว่าชีวิตตัวเองไร้ค่า และถ้าใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปถ้าไม่ตาย ก็คงต้องติดคุกแน่ๆ จึงตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในปี พ.ศ. 2532 หลังจากนั้นปี 2535 จึงตัดสินใจเดินทางมาจำวัดที่ วัดวิชิตสังฆาราม จังหวัดภูเก็ต ก็ได้ทำงานศิลปะควบคู่ไปด้วย

ระหว่างนั้นก็ได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน ก็พบปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ทุกเช้าและเย็นเด็กนักเรียนจะมีการทะเลาะวิวาทต่อยตีกันไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะเด็กพุทธและมุสลิม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องยาเสพติดที่ระบาดหนักในภาคใต้ ทำให้เยาวชนหลายคนติดยา ขาดสติพร้อมที่จะก่ออาชญากรรม 

พระป๊อกจึงคิดหาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้เยาวชนเหล่านี้ หลุดพ้นจากอบายมุข อีกทั้งยังไม่อยากให้เด็กเหล่านี้ เดินซ้ำรอยของท่านในวัยรุ่นที่ผิดพลาด ท่านจึงตัดสินใจกลับมาอยู่ที่วัดป่าท่านุ่น และแก้ปัญหาชุมชนโดยเลือกเอากีฬาฟุตบอลเข้ามาเป็นสื่อกลาง เพราะเด็กวัยรุ่นยากต่อการที่จะชักนำให้เข้าวัดมาฟังเทศน์ฟังธรรม พร้อมทั้งพัฒนาวัดที่จากเดิมเป็นพื้นที่ป่าช้า รกร้างจนทุกวันนี้วัดป่าท่านุ่นกลายเป็นจุดศูนย์กลางของคนในชุมชน

หลังจากที่พระป๊อกนำฟุตบอลมาสู่ชุมชน ทำให้คู่แค้นให้กลายเป็นเพื่อนในสนาม จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ในความเชื่อของพระป๊อกที่ว่า ฟุตบอลไม่ได้เป็นเพียงแค่กีฬาเท่านั้น แต่เป็นเสมือนสื่อกลางในการสอดแทรกธรรมะให้เด็กได้เข้าถึง สนามที่ใช้แข่งขัน ก็ไม่ต่างจากการจำลองภาพสังคม ที่เด็กทุกคนต้องอยู่ในกติกา เคารพการตัดสินใจของคนหมู่มาก ในทีมต้องมีความสามัคคีกัน อดทนและเข้มแข็งเมื่อกระทบกระทั่งในสนาม

สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นคำสอนให้เด็กๆได้ซึมซับทีละเล็กทีละน้อย นอกจากนั้นพระป๊อกยังสานฝันของเด็กๆ ที่ต้องการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เพื่อนำมาเลี้ยงครอบครัว ด้วยการส่งไปคัดตัวตามโรงเรียน หรือสโมสรที่มีชื่อเสียงทางฟุตบอล ซึ่งบางคนสามารถเดินตามฝัน จนเป็นนักเตะทีมชาติ

กว่า 20 ปี ที่พระป๊อกใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือ และสามารถผลิตเม็ดพันธุ์เยาวชนคุณภาพสู่สังคม สามารถสร้างวัดกลายเป็นศูนย์รวมทั้งศาสนา และกีฬาของชาวพุทธ มุสลิม ความเป็นพระกับกีฬาถึงแม้อาจจะขัดแย้งกัน แต่ในเมื่อจุดประสงค์ที่ต้องการส่งเสริมเยาวชน สร้างให้เด็กๆ คนในชุมชนเป็นคนที่ดีของสังคม ก็ไม่ต่างอะไรกับคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่สอนให้ทุกคนเป็นคนดี ต่างกันกันก็แค่เพียงวิธีการ ตามชมเรื่องราวของ พระป๊อก โค้ชผ้าเหลืองแห่งอันดามัน ได้ ในรายการ “คนค้นฅน” วันอังคารที่ 29 พฤษภาคมนี้ เวลา 22.50 น. ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี

No comments:

Post a Comment