โค้ชแหง่น เจ้าของฉายาโค้ชรถเข็นหัวใจเพชร

8/20/15
 
 
โดยมติชน เมื่อ 28 พ.ย.2555

เรื่องราวดีๆ จากชุมชนต้นแบบ www.punsook.org

“ความท้อแท้มันวิ่งตามโค้ชไม่ทัน” นั่นคือคำกล่าวย้ำจากปากของผู้ชายที่ชื่อ

ปริญญา เหล็กดี หรือที่รู้จักกันในนามโค้ชแหง่น 

ผู้ที่อุทิศตนให้กับเด็กๆ ในเทศบาลตำบลเขมราฐ รวมไปถึงเด็กๆ จากตำบลอื่นที่ได้ยินชื่อเสียง ตลอดจนความมุ่งมั่นที่โค้ชแหง่นมีให้กับฟุตบอล จนเด็กๆ จากทุกสารทิศดั้นด้นเดินทางมาเพื่อมาให้โค้ชแหง่นขัดเกลาฝีเท้าให้

โค้ชแหง่นต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นมานานสิบห้าปีแล้ว ภายหลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ จนทำให้กระดูกสันหลังหัก กลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต ในช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โค้ชแหง่นต้องต่อสู้กับตัวเอง ผ่านอุปสรรคมากมายจนมาถึงวันนี้ วันที่ความพิการมิอาจเกาะกุมหัวใจของนักต่อสู้ได้อีกต่อไป

“ผมชอบฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เล่นตำแหน่งกองหลัง เคยเป็นนักเตะเยาวชนของจังหวัดอุบลราชธานี ผ่านศึกของอีสานมาโชกโชน แต่สมัยก่อนนั้น ฐานะของครอบครัวไม่สู้ดี ตอนเข้าเก็บตัวก็อยากได้รองเท้าสตั๊ดดีๆ มาใช้ ก็ไปขอผ่อนเอากับทางร้าน เอารองเท้ามาใส่ก่อน แล้วผ่อนจ่ายรายวัน ซ้อมเสร็จก็เอาเบี้ยเลี้ยงวันละ 50 บาทไปจ่ายให้ที่ร้าน” โค้ชแหง่นเล่าถึงชีวิตนักฟุตบอลสมัยหนุ่ม

ปัจจุบัน สโมสรฟุตบอล ป.ซิตี้ ของโค้ชแหง่น เป็นหนึ่งในระบบการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แรกเริ่มนั้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักฟุตบอล ทำให้โค้ชแหง่นเลือกที่จะเดินตามความฝัน เข้าคัดตัวที่โรงเรียนจ่าอากาศ ซึ่งในอดีตเป็นสถานที่ในฝันของผู้เล่นทุกคน แต่ในครั้งนั้น โค้ชแหง่นไม่ผ่านการคัดตัว ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทาง ตัดสินใจเข้าเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยยังคงวนเวียนอยู่ในสังเวียนแข้ง เดินสายเตะฟุตบอลควบคู่กับการเรียน

ภายหลังสำเร็จการศึกษา โค้ชแหง่นเดินทางสู่สายงานราชการด้วยการเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดู่ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ก่อนประสบอุบัติเหตุในปี 2540 ภายหลังออกจากโรงพยาบาล เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตโค้ชแหง่น เพราะต้องต่อสู้กับตัวเอง ด้วยเวลานั้น ยังมิอาจยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้

โค้ชแหง่นมีความพยายามในการทำให้ตัวเองกลับมาเดินได้อีกครั้งเมื่อหมอในโรงพยาบาลปฏิเสธ โค้ชแหง่นเข้าหาหมอบ้าน หมอผี ที่ไหนดีที่ไหนดังเป็นต้องไปรักษา แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวัง ทั้งยังเสียเงินไปหลายแสนบาท กว่าจะต่อสู้ทำใจยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี

กลับสู่หนทางแห่งการดำรงชีพด้วยการเปิดบริษัทขายน้ำยากำจัดยุง ทั้งเปิดบริการรับส่งเงินจากแรงงานลาวกลับประเทศ โดยคิดค่าบริการร้อยละ 3 บาท ทำให้มีฐานะดีขึ้น และโค้ชแหง่นไม่รอช้า รีบทำในสิ่งที่ตนรักทันที เพราะถึงแม้จะเล่นฟุตบอลไม่ได้อีกต่อไป แต่หัวใจยังมีไฟมีความรักในฟุตบอล ทำให้เขาหันมาสอนฟุตบอล

โค้ชแหง่นเริ่มต้นการสอนฟุตบอลให้กับหลานตัวเอง กลิ้งลูกบอลให้หลานหัดเตะ จากนั้นก็เริ่มมีเพื่อนๆ ของหลานมาสมทบ เมื่อจำนวนเพิ่มขึ้นจึงตั้งเป็นทีมฟุตบอล ชื่อว่า ‘ป.ซิตี้’

จากนั้นทีมฟุตบอล ป.ซิตี้ เริ่มลงแข่งขันในระดับอำเภอในอำเภอเขมราฐ ซึ่งโค้ชแหง่นพาทีมฟุตบอลได้แชมป์รุ่นอายุ 10 ขวบ กลายเป็นที่สนใจของวงการฟุตบอลริมฝั่งโขง มีพ่อแม่จำนวนหนึ่งอยากให้โค้ชแหง่นช่วยสอนฟุตบอลให้ลูกๆ ซึ่งโค้ชแหง่นก็ได้ใช้โอกาสนี้ทำโครงการ ‘ป.ซิตี้ สัญจร’ ไปตามตำบลต่างๆ เพื่อเสาะหานักเตะฝีเท้าดี เอาปั้นต่อ

สุรวิฒิ ยุทธชนะ อาจารย์ประจำโรงเรียนเขมราฐพิทยาคม 

เล่าให้ฟังว่า ข้าวปลาอาหารการกิน ตลอดจนที่อยู่นั้น โค้ชแหง่นจะเป็นผู้รับผิดชอบเสียส่วนใหญ่ ยังไม่นับรวมถึงสนามหญ้าสีเขียวของสนามฟุตบอล รวมไปถึงลูกฟุตบอลจำนวนมาก โค้ชแหง่นจะใช้เงินของตัวเอง

สนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านเหนือเขมราฐ ก็เป็นสนามฟุตบอลมาตรฐานที่โค้ชแหง่นอุทิศตนทำให้เด็กๆ มีกำหนดเปิดสนามอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 เพื่อใช้เป็นสถานที่ขัดเกลาเด็กๆ ที่มาเรียนฟุตบอล

โค้ชแหง่นเล่าว่า นอกจากจะแข่งขันในภาคอีสานแล้ว ยังพาเด็กออกไปหาประสบการณ์ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เด็กๆ ได้ทดสอบฝีเท้า รวมถึงฝึกความแข็งแกร่งของจิตใจ

"เด็กกรุงเทพฯ คนหนึ่งได้กินไก่หนึ่งตัว ส่วนเด็กผมไก่หนึ่งตัวแบ่งกันกินทั้งทีม เน้นข้าวเหนียว โค้ชเห็นแล้วก็สงสารเด็ก อยากให้เขามีกินเหมือนกัน ไม่อยากให้เป็นปมด้อย แต่ก็ต้องพยายามทำให้เขาเข้าใจ จัดการกับความบกพร่องของตัวเอง ให้เขาอยู่ได้กับสิ่งที่เป็น เด็กหลายคนเอาโค้ชเป็นตัวอย่าง เขาสงสารโค้ช บางทีทีมตามหลัง ครึ่งหลังลงไปเขาเล่นเพื่อเรา ก็ดีใจ สักวันหนึ่งพวกเขาจะต้องมีอาหารกินอิ่ม จากเงินที่มาจากการเล่นฟุตบอล" โค้ชแหง่นเล่า

รูปแบบการฝึกสอนของโค้ชแหง่นได้กลายเป็นโมเดลให้กับจังหวัดใกล้เคียง อย่างทวีสิน คำทอง หรือโค้ชโหน่ง ดั้นด้นเดินทางมาจากอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เพื่อศึกษาดูงานจากโค้ชแหง่น แล้วกลับไปตั้งทีมฟุตบอลระดับท้องถิ่น สานต่อเจตนารมณ์ของโค้ชแหง่น และสานต่อในสิ่งที่ตนรักเช่นเดียวกัน

“ผมไม่ใช่คนที่เล่นฟุตบอลเก่งนัก แต่ก็รักมันด้วยใจ แม้ปัจจุบันทำสวนยาง แต่เราก็แบ่งเวลาในช่วงเย็นมาสอนฟุตบอลให้กับเด็กๆ ให้เขาได้มีโอกาสดีๆ ฝึกหาประสบการณ์ อย่างวันนี้ก็พาพวกเขามาแข่งที่นี่ แม้จะแพ้ แต่พวกเขาก็ได้บทเรียน ผมเองก็ได้ด้วย” โค้ชโหน่งเล่าให้ฟัง

โค้ชแหง่นยังเป็นเจ้าของรางวัล ‘พลตรี สำเริง ไชยยงค์’ ประจำปี 2552 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้ผู้ทำความดีเพื่อสังคมด้านส่งเสริมกีฬา นับเป็นความภาคภูมิใจของโค้ชแหง่น พอๆ กับการได้เห็นเด็กของตนได้รับความสนใจจากแมวมอง ถูกดึงตัวไปเล่นในกรุงเทพฯ และหลายคนกลายเป็นหนึ่งในนักเตะทีมชาติไทยในปัจจุบัน

“โค้ชดีใจ เด็กๆ เองก็ดีใจที่ได้เห็นรุ่นพี่ทีมชาติกลับมาเยี่ยม การส่งเด็กถึงดวงดาว ติดธงทีมชาตินับเป็นสิ่งที่ทำให้โค้ชมีความสุข หลายคนมีความสามารถจะไปไกลได้ แต่หลายครั้งก็มีปัญหา โค้ชต้องปลอบเขา ว่าที่เน่านั้นคือระบบ ไม่ใช่ตัวเราที่เน่า อย่าไปท้อ มุ่งมั่นต่อไป” โค้ชแหง่นเสริม

ณ วันนี้ ทุกลมหายใจเข้าออกของโค้ชรถเข็นผู้นี้ มีแต่ฟุตบอล และเด็กๆ เพราะเชื่อว่า สิ่งที่ตนกำลังทำอยู่นั้นเป็นการทำให้เด็กได้รับโอกาส ตลอดจนได้รับการขัดเกลาอย่างถูกทาง เพราะโค้ชแหง่นยอมรับว่า เด็กๆ จำนวนมาก หันไปติดยา ไม่มีอนาคต และนอกจากนี้ยังเป็นการเติมเต็มความฝัน สานต่อความรักที่มีต่อฟุตบอลของตัวเองด้วย

โค้ชแหง่นเล่าเสริมเล็กน้อยว่า ครั้งหนึ่งเคยมีความรัก แต่ด้วยความพิการ ทำให้คนรักไม่อาจอยู่กับโค้ชแหง่นได้ตลอด ภายหลังเจ็ดปีที่ดูแลโค้ชแหง่นมา เธอก็จากไปพร้อมกับเงินทองของโค้ช ซึ่งโค้ชแหง่นทำใจยอมรับได้โดยง่าย เพราะตลอดระยะเวลาดังกล่าว โค้ชแหง่นได้รับการดูแล หากแต่ในวันนี้เหลือเพียงคนเดียว กับฟุตบอล และเด็กๆ ที่โค้ชแหง่นยังคงเดินต่อ เพราะมีอนาคตที่สดใสของเด็กๆ เป็นแรงใจให้ก้าวไปข้างหน้า

หมายเหตุ เมื่อ 5 พ.ย.2556 โค้ชได้เสียชีวิตอย่างสงบแล้ว

ขอให้ดวงวิญญาณของโค้ชไปสู่สุคติครับ 

No comments:

Post a Comment